คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ความหมายของ คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตำราทางกฎหมายได้ให้ความหมายของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไว้ว่า หมายถึง คดีแพ่งที่ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลฐานความรับผิดเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือหากมูลเหตุของการกระทำผิดอาญาใดทำให้ผู้กระทำนั้นต้องรับผิดในทางแพ่งด้วย ก็จะเรียกคดีแพ่งดังกล่าวว่าเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมดังนี้ นายดำทำการลักทรัพย์นายขาวไป นายดำมีความผิดทางอาญาฐานลักทรัพย์ และขณะเดียวกันก็ถือว่าทำละเมิดในทางแพ่งด้วยโดยต้องคืนทรัพย์หรือต้องใช้ราคาทรัพย์ในแก่ผู้เสียหาย คดีละเมิดดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แล้วมีความแตกต่างจากคดีแพ่งธรรมดาอย่างไร? กฎหมายได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ป.วิ.อ.) มาตรา 40 ถึงมาตรา51 ซึ่งมีรายละเอียดมากและยากแก่การทำความเข้าใจโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผู้เขียนจึงขอสรุปสาระสำคัญโดยย่อดังนี้
1.ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีแพ่งดังกล่าวได้ทั้งต่อ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งและศาลที่กำลัง
พิจารณาคดีส่วนอาญาอยู่ (คดีแพ่งธรรมดา ปกติไม่สามารถฟ้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาได้)...ป.วิ.อ.มาตรา40
2.กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีส่วนอาญา ในบางฐานความผิดกฎหมายให้อำนาจอัยการมีสิทธิใน
การเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคา(จากผู้กระทำผิด)แทนผู้เสียหายได้....ป.วิ.อ.มาตรา43
3.กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้จำเลย ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้....ป.วิ.อ.มาตรา44/1.
4.ในการพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วน
อาญา(ป.วิ.อ. มาตรา46) ข้อนี้เป็นข้อสำคัญและอาจก่อให้เกิดความสับสนได้มาก ผู้เขียนจึงแยกไป
กล่าวให้ละเอียดในบทความเรื่อง แพ้คดีอาญาแล้วต้องแพ้คดีแพ่งด้วยหรือ?
5.คดีแพ่งประเภทนี้อาจมีอายุความแตกต่างจากคดีแพ่งธรรมดา....ป.วิ.อ.มาตรา51
ข้อสังเกต
-ในคดีอาญาทั่วๆไป ผู้มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องคดีคือ
1) ผู้เสียหายเองและ
2) อัยการ(ถือว่าอัยการฟ้องแทนผู้เสียหาย)
-แม้ว่ามีการฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง (ป.วิ.อ. มาตรา45)
-การพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดในคดีแพ่งหรือไม่ ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายส่วนแพ่งได้บัญญัติไว้ ซึ่งอาจมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากกฎหมายอาญาก็ได้ ดังนั้นผลของคำพิพากษาของคดีส่วนแพ่งอาจไม่เหมือนกับคดีส่วนอาญาก็ได้ เช่น คดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้อง(จำเลยชนะคดี) แต่คดีส่วนแพ่งศาลอาจพิพากษาให้จำเลยแพ้ก็ได้ หรือในทางกลับกันแม้จำเลยจะแพ้คดีส่วนอาญา แต่ก็อาจชนะในคดีส่วนแพ่งได้
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึงคดีที่มีการกระทำผิดกฎหมายซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อทดแทนความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิด โดยผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งต่างหากจากคดีอาญา หรือต่อศาลที่กำลังพิจารณาคดีอาญานั้นอยู่ หรืออาจมีการยื่นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยพนักงานอัยการเป็นผู้ร้องแทนผู้เสียหายต่อศาลที่รับฟ้องคดีอาญาเพื่อสั่งคืนหรือสั่งให้ใช้ราคาทรัพย์ก็ได้
การพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยศาลอาจมีคำสั่งให้แยกคดีส่วนแพ่งออกพิจารณาต่างหากจากคดีส่วนอาญาก็ได้
การพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาคดีส่วนอาญา โดยศาลจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามกฎหมายส่วนแพ่ง
อายุความการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีที่ไม่มีการฟ้องคดีส่วนอาญา ถือตามอายุความการฟ้องคดีส่วนอาญา และจะสะดุดหยุดลงเมื่อได้มีการฟ้องคดีส่วนอาญาจนกว่าจะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในกรณีที่ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ลงโทษจำเลยแล้ว จะถืออายุความ 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ถ้าศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้อง จะถืออายุความเหมือนคดีแพ่งทั่วๆไป
------------------------------------------------------------------------------
|